เมื่อพูดถึงการ ฝังเข็ม H SEM เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนคงจะเห็นวิธีการรักษาประเภทนี้อยู่บ่อย ๆ ในหนังจีนกำลังภายใน แต่เห็นในหนังบ่อย ๆ แบบนี้ เชื่อหรือไม่ว่าขั้นตอนการฝังเข็มไม่ได้ง่ายแบบที่เห็นกันนะ หากผู้ที่ทำการฝังเข็มไม่มีความเชี่ยวชาญมากพออาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตจนถึงขั้นที่ปอดรั่วได้งานนี้จะจริงหรือมั่ว เราหาคำตอบมาให้คุณแล้ว!
ทำความรู้จักการ ฝังเข็ม ทางเลือกแห่งการรักษา
ฝังเข็ม (Acupuncture) คือ ศาสตร์การรักษาโรคและอาการต่าง ๆ ชนิดหนึ่งของจีนโบราณ ด้วยการนำเข็มที่มีขนาดบางมาก ๆ มาฝังลงไปตามจุดต่าง ๆ บนร่างกาย ตามความเชื่อในเรื่องของพลังชีวิตหรือพลังชี่ที่อยู่ในเส้นลมปราณ (Meridian Line) โดยในทางกายภาพหรือทางสรีระวิทยาแล้ว เส้นลมปราณ ที่กล่าวอ้างในวิธีการรักษา รวมไปถึงกลไกหรือวิธีการรักษานั้นยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการแพทย์หรือวิทยาศาตร์สมัยใหม่
สำหรับขั้นตอนการฝังเข็มและแนวทางในการฝังเข็มนั้นมีดังต่อไปนี้
- การพูดคุยเรื่องรายละเอียดในการฝังเข็ม
สำหรับการพูดคุยเรื่องรายละเอียดในการฝังเข็ม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านนี้จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับจุดฝังเข็มเพื่อที่คุณจะได้ทราบรายละเอียดขั้นตอนการทำเบื้องต้น
- การเตรียมตัวสำหรับการฝังเข็ม
เมื่อคุณทราบถึงขั้นตอนการฝังเข็มเบื้องต้นแล้ว สถานีถัดไปก็คือการถอดเสื้อหรือเปลี่ยนชุดที่แพทย์เตรียมให้ในกรณีที่ชุดของผู้ป่วยไม่เอื้ออำนวยต่อการฝังเข็ม โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยนั่งในท่าที่เหมาะสมหรือนอนลงบนเตียง
- ขั้นตอนการฝังเข็ม
โดยแพทย์จะนำเข็มที่มีลักษณะที่บางมาก ๆ และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตรสอดลงไปที่กล้ามเนื้อ ในจุดฝังเข็มต่าง ๆ จำนวนตั้งแต่ 5-20 เล่ม ในระหว่างที่แพทย์กำลังสอดเข็มลงไปที่กล้ามเนื้อ อาจทำให้รู้สึกชาหรือปวดอ่อน ๆ เท่านั้น แต่ถ้ารู้สึกเจ็บมาก ๆ ควรรีบบอกแพทย์ทันที
- การคงอยู่ของเข็ม
เมื่อทำการฝังเข็มเสร็จแล้วแพทย์จะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที ก่อนดึงเข็มออก ในขณะที่ผู้ป่วยนอนผ่อนคลายอยู่บนเตียง จะไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดในระหว่างที่แพทย์กำลังดึงเข็มออก
และนี่ก็คือขั้นตอนการฝังเข็ม ภายหลังจากการฝังเข็มผู้ป่วยจะรู้สึกผ่อนคลาย กระชุ่มกระชวยมากขึ้น แต่ในบางรายอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษา ไม่รู้สึกว่ากล้ามเนื้อมีความผ่อนคลายใด ๆ และหลังจากการเข้ารับการรักษาภายในช่วง 2-3 สัปดาห์ หากไม่พบอาการที่ดีขึ้น อาจแปลว่าคุณไม่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ตอบคำถามที่หลายคนสงสัย การฝังเข็มเสี่ยงทำปอดรั่วได้!
หลังจากที่เราได้พูดการฝังเข็มกันไปบ้างแล้ว ก็มาสู่คำถามที่หลายคนสงสัย นั่นก็คือ “ฝังเข็ม” เสี่ยงทำให้คุณปอดรั่วได้! สำหรับคำถามนี้เบื้องต้นเราขอบอกเลยว่า “มีโอกาสสูงมาก”
โดยนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจและปอด โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาให้ความรู้ในเพจ Facebook ว่า การฝังเข็ม ถ้าลึกเกินไปจะไปทิ่มแทงอวัยวะภายในจนทำให้ปอดรั่วได้ และเมื่อปอดรั่วแล้วในบางรายอาจเกิดการติดเชื้อได้ และอาจจะลามไปจนถึงการเกิดฝีหนองในทรวงอกซึ่งทำให้รักษายากขึ้นอีก ดังนั้นการฝังเข็มจึงควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และใช้เข็มที่ปลอดเชื้อ ใช้แล้วทิ้ง
โดยนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจและปอด โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ยังได้พูดเพิ่มเติมอีกว่า
“ปอดและถุงลมเราก็เหมือนลูกโป่ง เมื่อถูกเข็มทิ่มเข้าไปก็ทำให้เกิดการรั่วขึ้น ซึ่งโอกาสที่ปอดรั่วจากการฝังเข็มนั้นก็เกิดขึ้นได้ เพราะถัดจากผิวหนังเราลงไปก็เป็นปอดและอวัยวะภายในอื่นๆ แล้ว ซึ่งคนที่ทำการฝังเข็มต้องระมัดระวัง เพราะหากทิ่มลึกไปก็อาจทิ่มเข้าอวัยวะภายในอื่นๆ ได้ ซึ่งแต่ละคนจะต่างกัน หากเป็นคนอ้วนก็อาจจะลึกลงไปหลายเซนติเมตร แต่คนผอมก็ประมาณ 2 เซนติเมตรเท่านั้นก็ถึงปอดแล้ว” นพ.มนูญ กล่าว
นอกจากเรื่องการฝังเข็มแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องระวังก็คือคนหนุ่มสาวที่มีส่วนสูงที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากในปัจจุบันพบผู้ป่วยวัยรุ่นตัวสูงเข้ามารับการรักษาอาการปอดรั่วกันมาก เนื่องจากพบว่ายอดปอดที่อยู่ใต้ไหปลาร้านั้นมีความอ่อนแอ มีถุงลมโป่งพองเล็กน้อยและรั่วได้บ่อย จากการออกกำลังกาย ยกของหนัก ๆ
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนั้นทำให้เกิดอาการรั่วบริเวณยอดปอด และเกิดอาการหายใจเหนื่อย ติดขัดขึ้นจนต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งปีหนึ่งก็พบได้หลายราย แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าต้นตอของเรืองนี้มันเกิดขึ้นจากที่ตรงไหน
และนี่ก็คือสาระดี ๆ ที่ H SEM นำมาฝากคุณผู้อ่านในวันนี้ เพราะการฝังเข็มนั้นค่อนข้างมีความเสี่ยง หากไม่ได้ทำการฝังเข็มกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางศาสตร์นี้โดยเฉพาะ ทางที่ดีเมื่อมีอาการปวดเมื่อยก่อนที่จะไปทำการฝังเข็มหรือทำการรักษาใด ๆ เราจึงอยากให้คุณปรึกษาแพทย์เสียก่อนเพื่อความปลอดภัยของคุณเอง