จริง หรือ มั่ว! ฝุ่น PM2.5 = ตัวการโรคสมอง

หลายคนคงจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับ ฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกครั้ง แม้ว่าตอนนี้เจ้าฝุ่นจิ๋วตัวร้ายจะกลายเป็นเรื่องคุ้นเคยกันไปแล้วสำหรับคนกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ กับปัญหา ฝุ่น pm2.5 มีความหนาแน่นสูงจนทำให้สุ่มเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และ โรคมะเร็งปอด แต่คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าในปี 2019 นี้ ได้ค้นพบเพิ่มเติมว่า ฝุ่น PM2.5 คือตัวการของโรคสมอง งานนี้จะจริงหรือโกหก HSEM MOTOR หาคำตอบมาให้คุณแล้ว!

ส่อง PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ตัวร้ายสุดอันตราย

ก่อนที่เราจะพูดถึงฝุ่น PM2.5 นั้น ต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters ซึ่งเป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ PM 10 และ PM 2.5 โดยตัวเลข 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตรนั่นเอง ด้วยความที่มันมีอนุภาคขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร เราจึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมาแผ่อยู่รวมกันเราก็สามารถเห็นได้เป็นหมอกควันหนา

สำหรับฝุ่น PM 2.5 เมื่อตามความเป็นจริงแล้ว ถือได้ว่าเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์มากที่สุดเลยก็ว่าได้ หากอิงตามข้อมูลที่องค์การอนามัยโลกได้ออกมาแจ้งเตือนให้ทราบ เพราะเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก เส้นผมที่ว่ามีขนาดเล็กแล้ว เจ้าฝุ่น PM 2.5 ยังเล็กกว่าถึง 20 เท่า ทำให้เล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอด และหลอดเลือดได้ง่าย ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว 

โดยฝุ่น PM2.5 นั้นมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ยานยนต์ การเผาไหม้วัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม ด้วยลักษณะตัวเมืองที่มีตึกสูงรายล้อมอย่างกรุงเทพ ทำให้เมืองมีลักษณะคล้ายกับแอ่งกระทะ เกิดการสะสมของเจ้าฝุ่นร้ายได้ง่าย ซึ่งปกติฝุ่นเหล่านี้จะลอยขึ้นไปในอากาศ ถูกลมพัดฟุ้งกระจายไป แต่ถ้าวันไหนที่อากาศนิ่ง ไม่ค่อยมีลมพัด ฝุ่นละอองจะไม่ฟุ้งกระจาย ส่งผลให้ระดับความเข้มของฝุ่นในพื้นที่นั้น ๆ สูงมากขึ้นจนกลายเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ

ใหญ่ทั่วโลกอีกด้วย โดยประชากรทั่วโลกกว่า 90% ได้รับมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกระจายเป็นวงกว้าง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO พบว่า ในทุกปีมีประชากรถึง 7 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการได้รับมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอด, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคหัวใจ และ โรคสมอง

“ค่าคุณภาพอากาศ” ต้องสูงขนาดไหนถึงเรียกว่าวิกฤติ!

หลังจากที่เราพูดถึงฝุ่น PM2.5 กันไปแล้วก็มาพูดถึง “ค่าคุณภาพอากาศ” กันบ้าง โดยค่าคุณภาพอากาศ คือ การรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไป เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่

โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 1 ค่า ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) , ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10), ก๊าซโอโซน (O3), ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)

ตอบคำถามที่หลายคนสงสัย สรุปแล้วฝุ่น PM2.5 คือตัวการโรคสมองจริงเหรอ?

มาถึงคำถามที่หลายคนสงสัยว่า “สรุปแล้วฝุ่น PM2.5 คือตัวการโรคสมองจริงเหรอ?” สำหรับใครที่กำลังสงสัยอยู่ เราขอบอกว่าเรื่องนี้เป็นความจริง! 

จากการรวบรวมข้อมูลวิจัยประชาชนในยุโรป 13 ประเทศขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ปี 2019 พบว่า ในกลุ่มคนที่ได้รับ ฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ประมาณ 7% ต่อ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากทุกครั้งที่เราหายใจนำฝุ่น PM2.5 เข้าไป ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเฉพาะที่ปอดหรือระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถซึมผ่านเข้าสู่เส้นเลือด ผ่านเข้าทางเส้นประสาทการรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูก และผ่านเข้าไปยังสมองโดยตรงได้ หลังจากที่ฝุ่นจิ๋วตัวร้ายเข้าไปยังสมองแล้ว สิ่งต่อมาที่จะเกิดขึ้นกับคุณก็คือสมองมีภาวะอักเสบ มีการหลั่งสารอักเสบชนิดต่าง ๆ ทำให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บ เกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ

จากหลายงานวิจัย พบว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อเด็กและผู้ใหญ่แตกต่างกัน กล่าวคือ หากเป็นในเด็ก ฝุ่น PM2.5 จะส่งผลต่อความผิดปกติทางด้านพัฒนาการทางสติปัญญา เช่น มีสติปัญญาด้อยลง, การพัฒนาการช้าลง, มีปัญหาการได้ยินและการพูด รวมทั้งยังมีผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit) และภาวะออทิซึม (Autism) เพิ่มมากขึ้นถึง 68% 

ในผู้ใหญ่พบว่า การได้รับฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า ทำให้เกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มได้ถึง 34% รวมทั้งยังทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมอง (Stroke) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เรียกได้ว่ายังไม่ถึงวัยผู้สูงอายุ ก็มีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติแล้ว โดยทุก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของระดับ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมองถึง 13% โดยในกลุ่มคนที่เป็นโรคเส้นเลือดสมองอยู่แล้ว การได้รับ PM 2.5 จะเพิ่มอัตราการตายให้สูงขึ้นไปอีก

หากเป็นคนที่ออกกำลังกายในสถานที่ที่มีฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพสมอง และเพิ่มอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดสมองมากขึ้น ส่วนในกลุ่มคนที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน มีสมองที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติ ฝุ่น PM2.5 รวมทั้งมลพิษในอากาศชนิดอื่น ๆ สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงขึ้นมาได้ โดยพบว่าในช่วงเวลาที่มีฝุ่นขนาดจิ๋วอยู่ในระดับสูง เช่น ฤดูหนาว จะพบคนที่เป็นไมเกรนเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง มากกว่าช่วงปกติประมาณ 4 – 13% 

7 ทริคเอาชีวิตรอดในดงฝุ่น PM2.5 

1. ออกกลางแจ้งเมื่อไหร่ ใส่หน้ากากอนามัยเอาไว้

สำหรับใครที่รู้สึกไม่ชินเวลาที่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย อาจจะต้องทำใจใส่หน่อย เพราะถึงแม้ว่าฝุ่น PM2.5 จะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่คุณก็ไม่ควรประมาทไป เพราะถ้าเกิดสูดดมเข้าไปสะสมในร่างกายอาจจะก่อให้เกิดโรคร้ายได้ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ปอด หรือภูมิคุ้มกันไม่ดี ยิ่งต้องระวังใหญ่ โดยหน้ากากอนามัยที่ดีควรเป็น N95 ใส่แล้วเหมาะพอดี ปิดสนิทแนบหน้า และมีไส้กรองกันฝุ่นขนาด PM2.5 อยู่ 

2. “ดวงตา” หน้าต่างหัวใจที่คุณไม่ควรมองข้าม

เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญ และบอบบาง เราจึงต้องหมั่นดูแลอยู่เสมอด้วยการหยอดน้ำตาเทียมบ่อย ๆ หากต้องอยู่กลางแจ้งนาน ๆ ให้สวมแว่นป้องกันฝุ่นเอาไว้จะดีที่สุด

3. เครื่องกรองอากาศ นวัตกรรมตอบโจทย์ยุค PM2.5 บุก

จริงอยู่ที่การปิดหน้าต่าง เปิดแอร์ นั้นเป็นทางเลือกที่ดี ปลอดภัยที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่าบางครั้ง วิธีนี้ก็ใช่ว่าจะรอดเสมอไป! ทางที่ดีช่วงนี้อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องฟอกอากาศควบคู่ไปด้วย ทางเดินหายใจของคุณจะได้ปลอดภัยมากขึ้น

4. งดตากผ้ากลางแจ้ง

ไม่น่าเชื่อจริง ๆ ว่าการตากผ้าในที่แจ้งนอกจากจะได้ผ้าแห้ง ไม่มีกลิ่นอับแล้ว มันยังแถมฝุ่น PM2.5 มาให้อีกด้วย ทางที่ดีช่วงนี้งดการตากผ้าในที่แจ้ง เปลี่ยนมาตากผ้าในที่ร่มกันไปก่อน หากกังวลว่าผ้าจะมีกลิ่นเหม็น แนะนำให้ใช้เม็ดหอมแขวนไว้ในตู้เสื้อผ้าเพื่อลดกลิ่นอับแทน

5. ทานอาหารดี มีประโยชน์

อาหารช่วงนี้เราขอแนะนำให้คุณรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการดีท็อกซ์ และอุดมไปด้วยประโยชน์ เพื่อที่สารอาหารเหล่านั้นจะไปช่วยขับสิ่งไม่ดีออกจากร่างกาย แถมยังเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย

6. ตรวจเช็กสุขภาพเสมอ อย่าให้ขาด

ในแต่ละวันเราอยากแนะนำให้คุณตรวจสุขภาพด้วยตัวเองเบื้องต้นว่า ร่างกายเกิดความผิดปกติอะไรไหม  หากมีอาการผิดปกติ หรืออยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ อาจจะต้องระวังกันเป็นพิเศษ และต้องไปพบแพทย์ทันที แน่นอนว่าช่วงนี้คุณผู้อ่านอาจจะลองไปตรวจสุขภาพประจำปีด้วย ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ไม่เลว หากเป็นอะไรจะได้รับมือทัน และไม่สายเกินแก้

7. รักษาความสะอาดยิ่งชีพ

ขั้นตอนในการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย ไม่ใช่แค่ป้องกันตัวเองจากฝุ่นเท่านั้น แต่การสวมหน้ากากอนามัยไว้เป็นเวลานาน อาจทำให้ใบหน้าใต้หน้ากากของเรามีเหงื่อได้ หากดูแลไม่ดีอาจกลายเป็นสิวในภายหลัง

และนี่ก็คือสาระดี ๆ ที่ HSEM MOTOR นำมาฝากคุณผู้อ่านในวันนี้ ใครไม่อยากป่วยเป็นโรคร้ายจากเจ้าฝุ่นตัวจิ๋ว ก็นำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ดูได้ค่ะ