ส่องปัญหาหลังแบน 3 สารเคมี ธันวาคมนี้เกษตรกรต้องรอด!

หลังจากที่มีข่าวออกมาอยู่พักใหญ่ จนได้ข้อสรุปเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ประเทศไทยจะแบน 3 สารเคมี เหล่านี้อย่างเด็ดขาด! ประกอบด้วยพาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย ตกค้างในผักผลไม้ได้นาน แม้แต่ความร้อน 100 องศาก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่แค่เกษตรกรเพียงอย่างเดียวที่ได้รับโทษจาก 3 สารเคมีนี้ เพราะผู้บริโภคเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน HSEM MOTOR จึงไม่รอช้า ขอนำเสนอทางรอดเพื่อเกษตรกรไทย ต้นธันวานี้ไปเกษตรกรไทยต้องรอด!

รู้หรือไม่? แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ไม่มีใครกล้าใช้ 3 สารเคมี นะ

1. พาราควอต

สารเคมีที่ผลิตขึ้นมาเพื่อกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะ สารเคมี ชนิดนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาครั้งแรกในปี 1882 รู้จักกันในฐานะเป็นสารพิษกำจัดวัชพืชในปี 1955 และผลิตเป็นสินค้าเพื่อเป็นสารกำจัดวัชพืชครั้งแรกในปี 1962 โดยบริษัทไอซีไอ (Imperial Chemical Industries) ซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร จากการผนวกควบรวมกิจการหลายครั้ง ในที่สุดไอซีไอได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ซินเจนทา” บริษัทข้ามชาติสัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่บาเซล 

บริษัทนี้กลายเป็นผู้ผลิตพาราควอตรายใหญ่ของโลกภายใต้ชื่อการค้า “กรัมม็อกโซน” รายได้หลักของบริษัทมาจากการขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยมียอดขายสารพิษทั้งหมดปีละ 11.381 พันล้านเหรียญสหรัฐ(ข้อมูลปี 2014) จากการเปิดเผยของผู้บริหารซินเจนทาเอง พบว่า เฉพาะในประเทศไทยยอดขายของพาราควอตมีมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันพาราควอตจำนวนมากถูกผลิตขึ้นที่ประเทศจีนเพื่อลดต้นทนและส่งออกไปขายยังทั่วโลก แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ ประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตพาราควอตนั้น ไม่มีใครใช้สารเคมีชนิดนี้เลย!  

2. ไกลโฟเซต

สารเคมีที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในห้องปฏิบัติการของนักเคมีชาวสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1950 ต่อมาเมื่อปี 1970 บริษัทมอนซานโตได้พัฒนาและสังเคราะห์อนุพันธุ์ไกลโฟเซตขึ้นจนค้นพบว่ามีคุณสมบัติในการกำจัดวัชพืช มีฤทธิ์ละลายน้ำได้ ซึ่งบริษัทมอนซานโตได้จดสิทธิบัตรไกลโฟเซตและอนุพันธุ์สารพร้อมจดเครื่องหมายการค้ายี่ห้อราวด์อัพ 

ไกลโฟเซตเป็น สารเคมี ปราบวัชพืชที่ทั่วโลกนิยมใช้ ช่วงเวลา 40 ปีระหว่าง 1974-2014 มีการใช้สารไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริการสูงถึง 1.6 พันล้านกิโลกรัม ในขณะที่ทั่วโลกมีปริมาณการใช้รวม 8.6 พันล้านกิโลกรัม ปัจจุบันบางประเทศ เช่น โปรตุเกส อิตาลี และนครแวนคูเวอร์ของแคนาดา ได้ออกกฎห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ เนื่องจากเป็นสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

3. คลอร์ไพริฟอส

สารประกอบประเภทออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphates) มีฤทธิ์กำจัดแมลงและหนอนต่าง ๆ ได้หลายชนิด เกษตรกรจึงใช้สารเคมีชนิดนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) เพื่อใช้กำจัดศัตรูพืช โดยคลอร์ไพริฟอสจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทในตัวแมลง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้คลอร์ไพริฟอสเป็นสารประกอบที่มีอันตราย การสัมผัสโดยตรงสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทของมนุษย์ และทำให้เกิดภาวะภูมิต้านทานตนเอง

ที่ผ่านมาคลอร์ไพริฟอสเป็นยาฆ่าแมลงที่มีการจำหน่ายเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก โดยใช้ฉีดพ่นลงในแปลงเกษตร เช่น ฝ้าย ข้าวโพด อัลมอนด์ รวมถึงผลไม้จำพวกส้ม กล้วย และแอปเปิ้ล แต่ถูกต่อต้าน และมีการยกเลิกการใช้ยาฆ่าแมลงชนิดนี้ในหลายประเทศ ครอบครัวเกษตรกรในอเมริกาเองก็เลิกใช้คลอร์ไพริฟอสตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ด้วยเช่นกัน

ส่องปัญหาหลังแบน 3 สารเคมี !

จริงอยู่ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากมีรายงานระบุถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากสารเคมีทั้ง 3 ตัว และมีหลายประเทศที่ดำเนินการแบนสารเคมีเหล่านี้แล้ว แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหลังจากที่แบน 3 สารเคมีนี้ เกษตรกรจะสามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้ งานนี้ HSEM MOTOR จึงไม่รอช้าขอนำเสนอปัญหาและทางแก้ที่เกษตรกรควรรู้ก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้กัน งานนี้จะมีอะไรบ้าง ห้ามพลาด ! 

1. “ต้นทุน” ของสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น

เนื่องจากในการกำจัดวัชพืชไม่สามารถฉีดยาฆ่าหญ้าได้อีกต่อไป การใช้วิธีไถกลบหรือใช้แรงงานคนจึงเป็นคำตอบที่ดี่สุดในเวลานี้ แน่นอนว่าราคาสูงก็ขึ้นตามไปด้วย

2. ความสามารถในการแข่งขันลดลง

ด้วยต้นทุนภาคเกษตรที่สูงขึ้น ทำให้การแข่งขันกับเพื่อนบ้าน-คู่แข่งในตลาดโลกด้านราคาสินค้ายากขึ้น ทางที่ดีประเทศไทยอาจจำเป็นต้องมุ่งหน้าสู่ “ประเทศเกษตรอินทรีย์” ซึ่งแน่นอนว่า ราคาผักปลอดสารพิษ ก็จะไม่เป็นมิตรกับกระเป๋าผู้บริโภคส่วนใหญ่

3. ผู้บริโภคมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

ไม่เพียงแต่การที่ต้นทุนผลิตสูงขึ้นจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทยลดลงเพียงอย่างเดียว เพราะความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคก็ลดลงด้วย เนื่องจากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น

กลูโฟซิเนต สารเคมี ทางรอดของเกษตรกรไทย จริงเหรอ?

หลังจากที่เกษตรกรได้ข้อสรุปเป็นที่แน่นอนแล้วสำหรับการแบนพาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ภายหลังนักวิชาการได้นำเสนอสารเคมี ทดแทน 3 สารเคมีดังกล่าว หนึ่งในนั้นก็คือ กลูโฟซิเนต ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช แต่คุณผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า กลูโฟซิเนตเองก็ไม่ได้ปลอดภัยต่อชีวิตของผู้ใช้งานเลย โดยรศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

การแบนพาราควอตและไกลโฟเซต เพื่อไปใช้กลูโฟซิเนตที่มีพิษและราคาแพง เหมือนเป็นการหนีเสือปะจระเข้ เพราะกลูโฟซิเนตมีราคาแพง มีระดับความเป็นพิษสูงกว่าไกลโฟเซตเนื่องจากไกลโฟเซตเป็นยาฆ่าหญ้าที่เป็นพิษต่ำสุดในท้องตลาด โดยกลูโฟซิเนตมีความเป็นพิษเฉียบพลันสูงกว่าไกลโฟเซตถึง 2.5 เท่า และมีพิษเรื้อรังที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์อีกด้วย 

แม้ว่าทางบริษัทผู้ผลิตจะบอกว่ากลูโฟซิเนต ไม่เป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำดื่ม และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทาง NGO อังกฤษไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะสารนี้มีความคงทนสูง ไม่สลายตัวง่าย และสามารถเคลื่อนย้ายได้ในดิน โดยเฉพาะดินที่มีทราย ทำให้มันลงไปในแหล่งน้ำใต้ดินได้ซึ่งอันตรายต่อจุลินทรีย์ในดิน สิ่งมีชีวิตในน้ำเป็นอย่างมาก ปัจจุบันสหภาพยุโรป 17 ประเทศไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว และมีแนวโน้มว่าประเทศยุโรปอีก 11 ประเทศ จะเลิกใช้ทั้งหมดในเร็ว ๆ นี้ ทางที่ดี HSEM MOTOR ขอแนะนำให้คุณใช้เครื่องตัดหญ้า หรือทำน้ำยากำจัดวัชพืชแบบไร้สารเคมีจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณและผู้บริโภค